ประวัติ

ประวัติและข้อมูลทั่วไปของเทศบาลตำบลท่าระหัด
 
ประวัติความเป็นมา
          ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ. ๒๕๔๒  ได้ให้ความหมายคำว่า “ท่า”  และ “ระหัด” ว่า  ท่า หมายถึง ฝั่งน้ำสำหรับขึ้นลงหรือจอดเรือ , ท่าน้ำ ก็เรียก,  ที่สำหรับขึ้นลงริมน้ำ เช่น ท่าข้าม , โดยปริยาย  หมายถึง ที่จอดพาหนะบางชนิด  เช่น  ท่าเกวียน  ท่าอากาศยาน : เรียกน้ำในแม่น้ำลำคลองว่าน้ำท่าคู่กับน้ำฝน “ระหัด” หมายถึง เครื่องวิดน้ำอย่างหนึ่งเป็นราง ใช้ถีบด้วยเท้าหรือฉุดด้วยเครื่องจักร  เป็นต้น

          ตำบลท่าระหัด  อยู่ในเขตอำเภอเมืองสุพรรณบุรี เป็นตำบลดั้งเดิม โดยรวบรวมตำบลในสมัยก่อนเข้าด้วยกัน  จากเดิมมีตำบลโคกหม้อ  ตำบลโพธิ์คอย  และตำบลท่าระหัด  ให้เหลือเพียงหนึ่งตำบล    ไม่ปรากฏปี พ.ศ. ในการก่อตั้งตำบล  แต่ในประวัติศาสตร์แล้วมีการกล่าวถึงตำบลท่าระหัด  ในนิราศเมืองสุพรรณ    ของสุนทรภู่  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๔  หรือเมื่อ ๑๗๔  ปีที่แล้ว  ความบทหนึ่งว่า
 
“ท่าระหัดพัดน้ำท่วม ท้องนา
  หันกลับขับคงคา คึ่นได้
  ใครจ้างช่าง รหัด     หา ห่อนพบหลบเอย
  อกพี่ที่ร้อนให้ รหัดน้ำพร่ำพรม”

 
            ท่าระหัด  ตั้งอยู่  ณ  ภูมิประเทศตอนใต้ของอำเภอเมืองสุพรรณบุรี   เป็นที่ราบลุ่มบางส่วน    เป็นที่สูงเนินแต่เดิมมีประชาชนอาศัยอยู่  ๓ กลุ่ม  คือ กลุ่มชาวตำบลโคกหม้อ  กลุ่มชาวบ้านท่าระหัด  และกลุ่มชาวบ้านโพธิ์คอย  ประชาชนทั้ง  ๓  กลุ่ม  ยึดพื้นที่ริมฝั่งข้ามของแม่น้ำท่าจีน (ฝั่งตะวันออก)  เป็นที่ทำมาหากินประกอบอาชีพเกษตรกรรมในสมัยโบราณ  ปีใดแห้งแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล  ประชาชน  เกษตรกรนิยมใช้ระหัดวิดน้ำด้วยแรงคนวิดน้ำจาก    แม่น้ำท่าจีน  (ระหัดชกมวยหรือเท้าถีบ)  ขึ้นไปทำนา ทำสวน  ทำไร่  และบรรพบุรุษได้เล่าสืบทอดกันมาว่าพื้นที่ติดต่อระหว่างหมู่ที่  ๑ กับหมู่ที่  ๓  มีอ่าวเป็นทางน้ำจากแม่น้ำไปสู่ลาดสามร้อย  เรียกอ่าวนี้ว่า “ท่าใหญ่”  ท่าใหญ่เป็นที่ตั้งของระหัดที่ใช้น้ำขึ้นไปทำการเกษตรกัน  จึงเรียกชุมชนในพื้นที่บ้านนี้ว่า “ตำบลท่าระหัด”
 
          องค์การบริหารส่วนตำบลท่าระหัด ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ภายในวัดท่าโขลง ถนนสุพรรณ-บางปลาม้า   อำเภอเมืองสุพรรณบุรี  จังหวัดสุพรรณบุรี จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นสภาตำบลในปี  พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๙ ได้ประกาศ     ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลท่าระหัด   ซึ่งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง

            ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลท่าระหัด  ได้รับการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลท่าระหัด อำเภอเมืองสุพรรณบุรี  จังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นเทศบาลตำบลท่าระหัด  โดยที่กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้ว เห็นว่า องค์การบริหารส่วนตำบลท่าระหัด มีสภาพความเหมาะสมสมควรให้จัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลท่าระหัด  ตั้งแต่วันที่  ๒๕  กรกฎาคม  ๒๕๕๑  เป็นต้นไป
 
           อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๒  แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล  พ.ศ. ๒๕๓๗   ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่  ๕)  พ.ศ. ๒๕๔๖  และมาตรา  ๗   แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล  พ.ศ. ๒๔๙๖  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย   จึงจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลท่าระหัด อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเทศบาลตำบลท่าระหัด

           องค์การบริหารส่วนตำบลท่าระหัดที่ได้รับการจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลท่าระหัด  ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  เรื่อง  จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลท่าระหัด  อำเภอเมืองสุพรรณบุรี  จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเทศบาลตำบลท่าระหัด  ตั้งแต่วันที่  ๒๕  กรกฎาคม  ๒๕๕๑  
ดังนั้น   จึงต้องดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสุพรรณบุรี  มีความเห็นให้ใช้รูปแบบที่ ๕  ในการแบ่งเขตตามมาติที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมครั้งที่ ๑๔๘/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๖  พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง  การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในจังหวัดสุพรรณบุรี

           อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐  และมาตรา ๑๓  มาตรา ๑๔  แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕  ประกอบมติคณะกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมครั้งที่ ๑๔๘/๒๕๕๑  เมื่อวันที่ ๒๖  พฤศจิกายน  ๒๕๕๑  คณะกรรมการการเลือกตั้ง  จึงประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในจังหวัดสุพรรณบุรี  จำนวน  ๑  แห่ง
เทศบาลตำบลท่าระหัด  แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๒  เขต  
    ๑.  เขตเลือกตั้งที่ ๑   จำนวนสมาชิกสภาเทศบาล   ๖   คน
    ๒.  เขตเลือกตั้งที่ ๒   จำนวนสมาชิกสภาเทศบาล   ๖   คน
          รวมทั้งสิ้นจำนวน   ๑๒   คน
 
          เขตเลือกตั้งที่ ๑  มีพื้นที่   ๑๑.๐๓  ตารางกิโลเมตร   มีจำนวนประชากร ๓,๕๕๐  คน  มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๒,๗๒๑  คน  และมีจำนวนครัวเรือน  ๙๑๗  ครัวเรือน
โดยแบ่งเขตหมู่บ้าน / ชุมชน  คือ   ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่เขตเทศบาล    แนวคลองท่าใหญ่ฝั่งทิศเหนือ บ้านเรือนประชาชนที่อยู่แนวถนนซอยหัวดงตาลฝั่งทิศเหนือ  ถึงบ้านเรือนประชาชนถนนกรุงเทพ-บางบัวทอง (๓๔๐) ฝั่งทิศตะวันตก ถึงถนนเลี่ยงเมือง (๓๕๗) ไปตามถนนฝั่งทิศเหนือ

          เขตเลือกตั่งที่ ๒  มีพื้นที่   ๘.๔๓  ตารางกิโลเมตร    มีจำนวนประชากร  ๓,๗๙๕  คน  มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๒,๘๘๔  คน  และมีจำนวนครัวเรือน  ๘๙๕  ครัวเรือน
โดยแบ่งเขตหมู่บ้าน / ชุมชน  คือ  ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในเขตเทศบาลแนวคลองท่าใหญ่   ฝั่งทิศใต้  บ้านเรือนประชาชนที่อยู่แนวถนนซอยหัวดงตาลฝั่งทิศใต้   ถึงบ้านเรือนประชาชนถนนกรุงเทพ -       บางบัวทอง (๓๔๐) ฝั่งทิศตะวันออก  ถึงถนนเลี่ยงเมือง (๓๕๗)  ไปตามถนนฝั่งทิศใต้

         เส้นแบ่งเขตเลือกตั้ง  ใช้ถนนคลอง , แม่น้ำ  เส้นแบ่งเขตเทศบาล  รวมทั้งใช้สถานที่สำคัญ  เช่น  โรงเรียน  วัด  สิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ  เช่น สะพาน  มีสิ่งสังเกตในการแสดงพื้นที่จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด และจุดติดเชื่อมโยงของแต่ละเขต